การใช้สคริปต์พิสูจน์อักษร

การพิสูจน์อักษรของ KK•Spell เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถจัดการกับข้อความ “ก่อน” และ “หลัง” การพิสูจน์อักษรได้ด้วยคำสั่งต่าง ๆ จาก เมนู “เปลี่ยน” เมนู “ลบ” และ เมนู “แทรก” จากคำสั่งเหล่านี้เราสามารถกำหนดลำดับการปฏิบัติได้ตามความต้องการ ด้วยการเรียกคำสั่ง “สคริปต์พิสูจน์อักษร...” จากเมนู ของ KK•Spell

KK•Spell จะแสดงหน้าต่างสำหรับสคริปต์พิสูจน์อักษร

ค่าปริยายหรือค่าเริ่มต้นของ KK•Spell สำหรับสคริปต์พิสูจน์อักษร จะเป็นการ “ลบอักขระไทยซ้อน” และการ “เปลี่ยนลำดับอักขระไทยให้ถูกต้อง” ตามลำดับก่อนที่จะเริ่มตรวจหาคำผิด การใช้คำสั่ง “ลบอักขระไทยซ้อน” เจาะจงที่ สระบนและล่าง วรรณยุกต์ การันต์ และเครื่องหมายบางตัวในภาษาไทยที่เมื่อพิมพ์ซ้ำ ๆ จะอยู่ทับซ้อนกันได้ และบางครั้งไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนบนจอภาพ แต่จะแสดงให้เห็นเด่นชัดขึ้นเมื่อพิมพ์ออกมา เมื่อมีการตรวจพบวรรณยุกต์พิมพ์ติดกันหลาย ๆ ตัว KK•Spell จะลบให้เหลือวรรณยุกต์ตัวแรกเพียงตัวเดียว เช่นเดียวกับสระและการันต์ การใช้คำสั่ง “เปลี่ยนลำดับอักขระไทยให้ถูกต้อง” จะเป็นการสลับลำดับ เช่น ไม้เอก อยู่หน้า สระอิ ก็จะทำการสลับตำแหน่งให้เป็น สระอิ ตามด้วย ไม้เอก เป็นต้น

การใช้สคริปต์พิสูจน์อักษรเช่นนี้เป็นการช่วยแก้ไขคำผิดในเบื้องต้น แต่ก็มีความสำคัญ นอกจากที่จะช่วยประหยัดเวลาได้มาก ก็ยังช่วยลดความสับสนเพราะอักขระซ้อนบางครั้งดูไม่แตกต่างบนจอภาพ การใช้สคริปต์ก่อนการพิสูจน์อักษรจึงมุ่งเน้นที่คำสั่งที่มีผลต่อการตรวจการสะกดคำโดยตรง เช่น ถ้ามีข้อความที่ใช้หยาดน้ำค้างและสระอา ( ํ + า) แทนการใช้สระอำ ( ำ) คำศัพท์ในปทานุกรมของ KK•Spell จะใช้เพียงสระอำเท่านั้น ในกรณีเช่นนี้เมื่อมีการตรวจการสะกดคำก็จะพบเป็นคำผิด ก็ควรเพิ่มคำสั่ง “เปลี่ยน > หยาดน้ำค้าง+ลากค้างเป็นสระอำ” ในสคริปต์ก่อนการพิสูจน์อักษร

การใช้สคริปต์หลังการพิสูจน์อักษร ควรใช้สำหรับการแก้ไขข้อความที่ไม่มีผลต่อการตรวจการสะกดคำ เช่น เปลี่ยนเลขไทยเป็นเลขอารบิค ลบวรรคเกิน ฯลฯ และบางครั้งเราต้องการข้อความที่ตรวจแก้คำผิดแล้วเพื่อจะได้แทรกรหัสตัดคำเพื่อให้การตัดคำเป็นไปอย่างถูกต้อง เช่นเมื่อทำงานร่วมกับ Microsoft Word 2011 เราก็สามารถเพิ่มคำสั่ง “แทรก > รหัสตัดคำ” ไว้ในสคริปต์หลังการพิสูจน์อักษรได้