ปทานุกรมและคำศัพท์

ปทานุกรมภาษาไทยของ KK•Spell แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามหน้าที่ในการทำงาน คือ ปทานุกรม “คำศัพท์ภาษาไทย” และปทานุกรม “คำผิดภาษาไทย” โดยบันทึกลงเป็นแฟ้มข้อมูลแต่ละชนิด ช่วยให้สามารถเลือกติดตั้งได้ตามความต้องการ

ปทานุกรม “คำศัพท์ภาษาไทย” บันทึกคำศัพท์ที่มีการสะกดคำอย่างถูกต้อง โดยอาจอ้างอิงจากสถาบันต่าง ๆ ที่ได้รับการเชื่อถือและยอมรับ เช่น ราชบัณฑิตยสถาน เป็นต้น หรืออาจเป็นคำสะกดที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน หรือแม้แต่เป็นการสะกดคำตามความต้องการของเจ้าของงานเขียนเอง คำในปทานุกรมชนิดนี้จะถูกนำมาเปรียบเทียบคำต่อคำกับข้อความที่เราทำการพิสูจน์อักษร คำที่ไม่พบในข้อความจะถือเป็นคำที่สงสัยว่าสะกดผิด แต่ถ้าเป็นคำที่สะกดถูกต้องอยู่แล้ว ก็สามารถเพิ่มคำเหล่านี้ไว้ในปทานุกรมได้ขณะทำการพิสูจน์อักษร หรือเพิ่มเติมคำศัพท์เหล่านี้ในภายหลังได้ ด้วยการเรียกหน้าต่าง “ปทานุกรม” แล้วคลิกที่ปุ่ม “เพิ่ม…”

KK•Spell จะแสดงหน้าต่างสำหรับการเพิ่มคำ คำไทยที่จะถูกบันทึกในปทานุกรมได้ จะต้องเป็นคำที่ยาว 2 ถึง 63 อักษร และมีเฉพาะ พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ไทย อักษรตัดคำ (แทนด้วย |) และเครื่องหมาย ‘ . ฯ ํ ฺ เท่านั้น คำที่เพิ่มสามารถเลือกได้ว่าจะใช้เพื่อ การสะกดคำและตัดคำ และ/หรือ ใช้เพื่อแสดงเมื่อมีการแนะนำคำศัพท์ โดยคำศัพท์ส่วนมากจะถูกบันทึกเป็นทั้งสองอย่าง คำประสมที่มีความยาวมาก ๆ หรือสำนวนไทย เช่น “ลงหลักปักฐาน” อาจจะบันทึกให้ใช้เป็นคำแนะนำแต่เพียงอย่างเดียว ด้วยการเอาเครื่องหมายถูกออกจาก “ใช้ตรวจการสะกดคำและตัดคำ” ผลที่ได้คือการแบ่งคำตามคำมูล เป็น “ลง•หลัก•ปัก•ฐาน” แทนที่จะเป็นคำว่า “ลงหลักปักฐาน” ทั้งคำ การแทรกรหัสตัดคำด้วย KK•Spell เพื่อให้การตัดคำเป็นไปอย่างถูกต้อง (ในแอปพลิเคชัน เช่น Microsoft Word 2011) คำที่สั้นกว่าช่วยให้คำในบรรทัดกระชับ ดูสวยงามยิ่งขึ้น

การเอาเครื่องหมายถูกออกจาก “แสดงในรายการแนะนำคำศัพท์” เพื่อให้ใช้ตรวจสอบการสะกดคำและตัดคำเพียงอย่างเดียว ไม่ให้แสดงเวลาแนะนำคำสะกดทั่วไป มีใช้สำหรับการตัดคำโดยอัตโนมัติ ระหว่างทำการพิสูจน์อักษร เช่น เมื่อพบคำว่า “ขอมอบ” ระบบของ Mac OS X จะตัดคำเพื่อขึ้นบรรทัดใหม่เป็น “ขอม•อบ” เสมอ (คำแรกยาวที่สุด) แต่ถ้าเราเพิ่มคำว่า “ขอ|มอบ” ในปทานุกรมคำศัพท์ภาษาไทย เมื่อทำการพิสูจน์อักษร KK•Spell จะแทรกรหัสตัดคำระหว่างคำว่า “ขอ” กับ “มอบ” โดยอัตโนมัติ

ทดสอบดูได้ คำว่า “ขอ|มอบ” มีอยู่แล้วในปทานุกรม “คำศัพท์ทั่วไป” ของ KK•Spell เริ่มต้นด้วยการเปิดแอปพลิเคชัน TextEdit เรียกคำสั่ง New จากเมนู พิมพ์คำว่า “ขอมอบ” เลือกทั้งคำแล้ว Copy มา Paste ใส่หลาย ๆ ครั้ง สัก 3-4 บรรทัด ลองขยายและลดขนาดหน้าต่างดู จนเห็นว่าคำสุดท้ายของบรรทัดใดบรรทัดหนึ่งเป็นคำว่า “ขอม” จากนั้นเลือกข้อความทั้งหมด เรียกคำสั่ง “พิสูจน์อักษร...” ของ KK•Spell จะไม่พบคำผิด กดปุ่ม “ตกลง” แล้วก็กดปุ่ม “ใส่ข้อความเดี๋ยวนี้” แล้วลองขยายและลดขนาดหน้าต่างดูอีกครั้ง ก็จะเห็นความแตกต่าง

ปทานุกรม “คำผิดภาษาไทย” บันทึกคำที่ต้องการให้เป็นคำผิด เช่น คำว่า “อนุญาต” ที่มักจะสะกดผิดกันเป็น “อนุญาติ” เมื่อ KK•Spell ทำการพิสูจน์อักษร จะพบเป็นคำว่า “อนุ” และ “ญาติ” อยู่ติดกัน การที่คำผิดเป็นคำอื่นที่สะกดถูกเช่นนี้ เป็นข้อผิดพลาดที่ KK•Spell ไม่สามารถตรวจพบได้ คำผิดลักษณะนี้มีอยู่มากมาย เพราะเกิดจากการนำคำมูลที่ออกเสียงเหมือนกันหรือคล้ายกันมาประสมกัน แต่ก็มักจะไม่มีใช้กันในประโยคภาษาไทยทั่วไป การรวบรวมคำชนิดนี้มาบันทึกลงในปทานุกรมคำผิดภาษาไทย จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ KK•Spell ในการตรวจหาคำผิด ปทานุกรม “คำที่มักสะกดผิด” ที่มาพร้อมกับ KK•Spell ได้รวบรวมคำลักษณะนี้ไว้

ในภาษาไทยยังมีคำที่สะกดได้หลายวิธี เช่น “วิกฤติ” กับ “วิกฤต” คำสะกดทั้งสองมีอยู่ในปทานุกรมที่มาพร้อมกับ KK•Spell เราสามารถให้คำสะกดที่เราไม่ต้องการใช้ บันทึกลงในปทานุกรมคำผิด เพื่อให้ KK•Spell ตรวจพบเมื่อทำการพิสูจน์อักษร นอกจากนี้ยังสามารถระบุคำที่ต้องการให้แนะนำได้ โดยพิมพ์ คำที่ให้ผิด ตามด้วยเครื่องหมาย = และตามด้วย คำสะกดที่เราต้องการให้แนะนำ เช่น ต้องการให้ “ม่อห้อม” เป็นคำผิด และให้แนะนำเป็น “ม่อฮ่อม” และ “หม้อห้อม” ก็เพิ่มคำ “ม่อห้อม” เพื่อให้เป็นคำผิด จากนั้นเพิ่ม “ม่อห้อม=ม่อฮ่อม” และ “ม่อห้อม=หม้อห้อม” ตามลำดับ เพื่อให้เป็นคำแนะนำ เมื่อ KK•Spell ตรวจพบจะแสดงคำแนะนำเป็น “ม่อฮ่อม” และ “หม้อห้อม” ในรายการเท่านั้น